กองบรรณาธิการ
หลังจากที่หลายๆ มหาวิทยาลัยได้เปิดเทอมไป เพื่อนๆ พี่ๆ ชาวไทยหลายคนก็ต้องทยอยบินกลับไปยังสหราชอาณาจักรทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย สามัคคี Interview ตอนแรกนี้ จะพาทุกท่านไปติดตามสอบถามชีวิตของนักเรียนไทยที่กลับไปเรียนยังสหราชอาณาจักรกันว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม ใช้ชีวิตอย่างไร และแนะนำให้เพื่อนๆกลับไปหรือไม่ มาติดตามรับชมได้เลยครับ
จิ๋ว (Postgraduate student, University College London)
“ส่วนตัวแล้วการที่เราจะกักตัวอยู่แต่ในบ้านเพราะจำนวนคนติดเชื้อในสหราชอาณาจักรที่เพิ่มมากขึ้น คงจะเป็นเรื่องที่ยากแล้ว เราจึงตัดสินใจที่จะปรับตัว ใช้ชีวิตตามปกติ ปฏิบัติตามกฎของรัฐบาล เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การนัดเจอคนไม่เกิน 6 คน และรักษาความสะอาดมากขึ้น เช่น ล้างมือบ่อยๆ
สำหรับเรื่องการเรียนเราคงต้องทำใจเรื่องการไปเรียนแบบ Face-to-Face เนื่องจากจำนวนนักเรียนในคลาสที่เยอะ และการใช้ Facilities ร่วมกันซึ่งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ เราเลยปรับ mindset เรื่องการเรียนเน้นการใช้ประโยชน์ของการเรียนออนไลน์จากบ้านให้ได้มากที่สุด เช่น การใช้เวลาที่เราเสียไปในการเดินทาง มาเป็นเวลาอ่าน Research Paper หรือบทความนอกห้องเรียนแทน”
นุก และ บอส (3rd-year undergraduate students, Imperial College London)
“ส่วนตัวนี่ก็กักตัวอยู่แต่ในบ้านเช่นกัน ออกไปซื้อของบ้าง สัปดาห์ละครั้ง แล้วก็เดินเล่นตาม park หรือ ริมแม่น้ำที่ไม่มีคนเยอะบ้าง เนื่องจากอยู่ในบ้านทั้งวันตลอดเวลาไม่ไหวจริง ๆ ตอนออกไปไหนก็ใส่ mask ที่นี่มีขายไม่ขาดตลาดแล้ว ทั้งแบบ surgical masks และก็แบบผ้าที่ใช้ nano filtration technology
https://chooseally.com : ขอเบรคขายของ ซื้อมาลองใช้แล้วโอเคเลย คนที่ review (ไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าของบริษัทด้วยป่าว), Dr Dominic Pimenta เป็นหนึ่งในคนก่อตั้ง HEROES ซึ่งเป็น charity ที่ support NHS workers อยู่, masks ในเว็บบางรุ่นรายได้ส่งไปให้ HEROES ด้วย
แต่คนที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ใส่กันอยู่ดี บางคนใส่แต่ใส่ไม่ถูกต้อง ไม่บีบ nose clip หรือ ไม่กางตัวหน้ากากออก หรือ หนักกว่านั้น คือใส่ใต้จมูก เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ชัวร์ก็ต้องหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด บวกกับเวลาซื้อของเข้าบ้าน นี่คือเช็ด/ล้าง ด้วย dettol ทุกชิ้น เพราะไม่รู้ว่าผ่านอะไรมาบ้าง คนบางทีก็ไปเดินจามอยู่ใน tesco เอาตรง ๆ ก็คืออยู่ได้แต่ก็เป็นการใช้ชีวิตที่หวาดระแวง เพราะนี่อยู่กับ flatmate คนไทยด้วยอีกหนึ่งคน เลยรู้สึกว่าต้องระวังมากขึ้น เพราะถ้าเราไปติดมา เราจะพาเพื่อนติดด้วย แต่เพราะมี flatmate ก็เลยทำให้การอยู่ในบ้านไม่ได้แย่ หรือว่าหดหู่ขนาดนั้น
ในเรื่องของการเดินทาง public transport + uber บังคับให้ใส่หน้ากากหมด แต่อย่างว่า บน tube ไม่ได้มีคนเช็คตลอด ก็ถอดบ้าง ใส่บ้าง ใส่ผิด ๆ บ้าง ก็อันตรายอยู่ดี ส่วน uber จะเปิดหน้าต่างให้อากาศระบายตลอด แต่บางทีคนขับก็ใส่หน้ากากไม่มิดชิด เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังอยู่ดี
ส่วนเรื่องการเรียน Imperial เป็นแบบ Hybrid แต่ตารางออกมายังไม่เห็นว่าให้เข้า uni เลย อาจจะเป็นเพราะตัวเลขผู้ป่วยที่ขึ้นไปจนถึงหลักหมื่น ทุกอย่างตอนนี้เลยเป็น online อย่างเดียว
รวม ๆ แล้วส่วนตัวคืออยู่ได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เวลามีเพื่อนคนไทยมาขอคำแนะนำ ส่วนตัวคือไม่อยากให้กลับมา เพราะการใช้ชีวิตก็ไม่ได้สะดวกขนาดนั้น และถ้าเทียบกันระหว่างตัวเลยผู้ป่วย 0 ที่ไทย กับ หลักหมื่นที่นี่ ถ้าไม่มีเหตุผลที่ต้องกลับจริง ๆ ก็ไม่อยากให้กลับกัน เพราะอยู่ไทยยังไงก็ปลอดภัยกว่าเห็น ๆ
แต่ส่วนตัวทั้งบอส กับ นี่ คือระแวงกันหนักมาก 😂 เลยอาจจะดู negative หน่อย เพราะเห็นเพื่อนต่างชาติอยู่ Scotland คือ ชิล มากกกก บินกลับบ้าน แล้วก็บินกลับมาละ ไปไหนมาไหนชิลสุดดด ก็เป็นอีก lifestyle นึง หรือ เพื่อนคนไทยที่อยู่คนเดียวอีกคน ก็คืออยู่ในบ้านคนเดียวไม่ไปไหนมาไหนเลย deliveroo* อย่างเดียวเป็นเวลาครึ่งปีเต็มก็อยู่ได้ชิล ๆ”
*deliveroo คือ application สั่งอาหาร
ไมค์ (Postgraduate student, London School of Economics and Political Science)
“เริ่มปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิดได้มากขึ้น เพราะอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในยุโรปช่วงต้นปี แม้ดูเหมือนจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะพุ่งสูงขึ้นมากกว่าระลอกแรก แต่สถานการณ์และความพร้อมด้านต่าง ๆ ดีขึ้นมาก มีเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยจำหน่ายตามท้องตลาด ไม่ขาดแคลนเหมือนช่วงแรก ร้านค้ามีมาตรการรับมือกับการระบาดตามนโยบายของรัฐบาล
ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง ทำอาหารเองมากขึ้น เริ่มสนุกกับการวางแผนว่าจะทำอะไรกินบ้างในสัปดาห์นี้ และออกไปซื้อของทีเดียวสำหรับหลายวัน ร้านสะดวกซื้อ เช่น Tesco M&S และ Waitrose มีของจำหน่ายตามปกติ ไม่เหมือนช่วงการระบาดแรก ๆ ที่คนตื่นตระหนกซื้อของกักตุนไว้ ทำให้ของหมด สิ่งสำคัญคือต้องใส่หน้ากากเพื่อใช้ซื้อของในร้านค้าต่าง ๆ และบริการขนส่งสาธารณะ
มหาวิทยาลัยมีมาตรการ COVID-secure campus มีบริการตรวจโควิดฟรีเพื่อคัดกรองบุคลากรและนักเรียนที่กลับมาเรียนในห้องเรียน รวมถึงมีบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรีเช่นกัน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อ มีมาตรการจำกัดคนในห้องเรียนและห้องสมุด สำหรับผม ปีนี้ไม่มีคลาสแล้ว จึงไม่กระทบมาก แต่นักศึกษา ป.ตรี และ โท อาจจะมีบรรยากาศการเรียนที่เปลี่ยนไปมากพอควร
สำหรับการออกกำลังกาย แม้ว่ายิมบางแห่งเปิดแล้ว แต่ยิมและสระว่ายน้ำที่เป็นสมาชิกยังคงปิดทำการอยู่ ทำให้ต้องออกกำลังกายในห้องหรือไม่ก็ออกไปวิ่งตามสวนแทน เลือกเส้นทางและเวลาที่เลี่ยงคนเยอะ ช่วงนี้ใบไม้กำลังเปลี่ยนสีพอดี ให้บรรยากาศไปอีกแบบ ส่วนพิพิธภัณฑ์หลาย ๆ แห่งเริ่มกลับมาเปิดทำการตามปกติ แต่ว่าต้องจองวันและเวลาล่วงหน้า และสามารถเข้าชมได้ตามเส้นทางที่จัดไว้ อาจจะเปิดไม่ครบทุกห้อง แต่ก็พอมีอะไรให้ชมแก้เบื่อได้หลังจากที่ปิดไปหลายเดือน
เพื่อน ๆ ที่เคยอยู่ที่นี่แล้ว หากกลับมาคงปรับตัวได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนที่กำลังจะมาเรียนอาจจะต้องวางแผนดี ๆ และติดตามข่าวสารทั้งจากมหาวิทยาลัยและรัฐบาลฯ อยู่เสมอ หรือปรึกษาเพื่อน ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ที่นี่ก็คงช่วยได้ไม่น้อย”
เอิร์น (2nd-year undergraduate students, Girton College, University of Cambridge)
“หลังจากได้กลับมาที่มหาวิทยาลัยเป็นเวลาสามอาทิตย์ก็ได้เห็นมาตรการต่างๆของทางมหาวิทยาลัย (ซึ่งบางข้อจะขึ้นอยู่กับคอลเลจที่อยู่) ด้านการควบคุมโรคระบาดที่เห็นได้ชัดคือ
1) นักเรียนจะถูกจัดเป็น household 2-8 คน นั่นคือในกลุ่มนี้อาศัยอยู่บริเวณใกล้กันจะสามารถพบปะ ใช้พื้นที่ส่วนกลาง และอยู่บริเวณใกล้ห้องของกันและกันได้
2) กฎห้ามเข้าไปใน household อื่น แต่เจอเพื่อนต่าง household ได้ ภายนอกที่พักอาศัย และ ไม่อนุญาตให้มี visitor เข้ามาในบริเวณที่พักของนักเรียน และ
3) จะมีการบริการ COVID-19 asymptomatic testing ให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกๆสัปดาห์ โดยผู้ตรวจจะถูกเลือกจากการสุ่มคนในแต่ละ household และ มีรายงานให้ทราบเป็น weekly report
ส่วนตัวคิดว่านักเรียน และโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยและในที่พัก ทำตามกฎค่อนข้างเคร่งครัด ใน household ก็มีการทำข้อตกลงร่วมกันว่าให้บอกเพื่อนร่วม household หากมีอาการ หรือหากไปในที่ที่มีคนเป็นจำนวนมาก เพื่อที่คนอื่นจะได้ประเมินเองว่าควร self-isolate หรือระวังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคิดว่าเป็นวิธีการที่ดี ที่ทำให้เราแสดงความกังวล และ การยินยอม อย่างเปิดเผย
การเรียนส่วนใหญ่มีเป็นออนไลน์ มีเพียง 1 ชม. ต่อ อาทิตย์ หรือแค่นัดเป็นกรณีไป ที่จำเป็นจะต้องเดินทางเข้าไปใน department ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีการรักษาความสะอาดอย่างดี เช่น จะต้องใส่ face mask ตลอด 1 ชม. ที่มีการเรียนการสอน เนื่องจากเป็นการเรียนออนไลน์ส่วนใหญ่ จึงคิดว่าอยู่ที่ไทยหรืออังกฤษอาจจะไม่ต่างกันมากนัก อาจมีเรื่องของ Timezone ให้คิด แต่โดยรวมแล้วประสิทธิภาพไม่ได้ลดลงหากอยู่ที่ไทย
ส่วนตัวลดการใช้บริการในร้านอาหาร เพราะเป็นการลดความเสี่ยงได้ดี แต่ในสถานที่ต่างๆก็มีการรณรงค์ให้ลูกค้าโหลดแอปติดตามของ NHS เพื่อ Check in สถานที่นั้นๆ ส่วนการไป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่เคาน์เตอร์เช็คเอาท์จะมีพลาสติกกั้นทุกที่ที่ไป และก็มีพนักงานเช็ดทำความสะอาดเครื่องบ่อยครั้ง (ยังไม่เจอร้านอาหารที่มี) แต่หากไม่ได้อยู่ในร้านเหล่านั้น ผู้คนยังคงไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อเข้าที่ปิดจึงใส่เท่านั้น เนื่องจากผู้เขียนใช้การเดินทางเป็นจักรยานจึงไม่ได้กังวลนัก” เป็นอย่างไรกันบ้างครับ เพื่อนๆ พี่ๆ พอจะเห็นภาพชีวิตในสหราชอาณาจักรในเวลานี้กันแล้วใช่ไหมครับ สามัคคีสมาคมฯ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ที่กำลังลังเลว่าจะกลับมาเรียนต่อดีไหม ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และเพื่อนๆ ที่อยู่ในสหราชอาณาจักรเอง ก็ได้เห็นมุมมองของเพื่อนๆ ในเมืองอื่นๆเพิ่มมากขึ้นนะครับ สำหรับตอนนี้ สถานการณ์ในสหราชอาณาจักรเองก็รุนแรงมากขึ้น ตอนนี้รัฐบาลเองก็ประกาศ Lockdown เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อชะลอการแพร่ระบาดแล้ว ทางกองบรรณาธิการขอแสดงความเป็นห่วงและขอให้เพื่อนๆ ทุกคนปลอดภัยนะครับ ดูแลตัวเองทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดี หากมีข้อสงสัยหรือต้องการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุด ติดตามได้ทางเว็บไซต์ https://www.gov.uk/coronavirus ได้ตลอดเวลาเลยนะครับ แล้วพบกัน เมื่อปลอดภัยนะครับ 🙂
ร่วมส่งบทความเป็นส่วนหนึ่งของสามัคคีสาร
ร่วมส่งบทความเป็นส่วนหนึ่งของสามัคคีสาร
คุณเองก็สามารถเผยแพร่บทความของตนเองในสามัคคีสารได้ ขอเพียงคุณมีใจรักการเขียน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นโยบายการส่งบทความของสามัคคีสาร แล้วอย่าลืมส่งบทความกันเข้ามาเยอะๆ นะคะ