ภควัต ทวีปวรเดช
PhD Animal and Plant Sciences
The University of Sheffield
ซากุระ? Cherry blossom? นางพญาเสือโคร่ง? ดอกไม้สีชมพูที่บานสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลินี้ต่างกันตรงไหน? แล้วเราควรเรียกดอกไม้เหล่านี้ว่าอะไรดีนะ?
หลังจากที่ธรรมชาติตื่นจากหลับใหลในช่วงฤดูหนาว หนึ่งในบรรดาสีสันพรรณรายที่สะดุดสายตาผู้คนที่สุดเห็นจะไม่พ้นเจ้าต้นไม้ที่มีดอกสีชมพูอ่อนระเรื่อ เหล่านี้ ในช่วงแรกๆ นักเรียนไทยในอังกฤษหลายคนคงได้สัมผัสความรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้เห็นซากุระบานในอังกฤษ ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมชาวตะวันตกถึงเรียกว่า Cherry blossom หรือ Flowering cherry กันนะ สรุปแล้วดอกซากุระที่เราเห็นกับลูกเชอร์รี่ที่เรากินกันนั้นคือต้นไม้ชนิดเดียวกันหรือเปล่า?
ในทางพฤกษศาสตร์แล้ว เชอร์รี่และซากุระ เป็นพืชคนละชนิดกัน นอกจากนี้ ทั้งเชอร์รี่และซากุระนั้นต่างเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกชนิดและสายพันธุ์ของต้นไม้กว่าหลายร้อยชนิด แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งเชอร์รี่และซากุระต่างก็เป็นพืชในสกุลเดียวกัน คือสกุล Prunus หรือสกุลของพลัม สมาชิกของพืชในสกุลนี้ที่มีกว่า 400 ชนิดนั้น มีลักษณะร่วมโดยทั่วไปคือ มีใบเดี่ยวรูปหอก (Lanceolate) ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบและกลีบดอก 5 กลีบ มีหลายสีตั้งแต่ขาวไปจนถึงชมพูหรือแดง และมักจะบานในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ (อังกฤษ : มีนาคม ถึง พฤษภาคม) ติดผลแบบ drupe (ผลที่มีเนื้อสดและมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียวภายใน) ในช่วงปลายฤดูร้อน (อังกฤษ : มิถุนายน ถึง สิงหาคม) (Johnson, 2004) เนื่องจากทั้งเชอร์รี่และซากุระเป็นพืชที่มีบทบาทในสังคมมนุษย์มาเป็นเวลานาน จึงทำให้มีความหลากหลายของชนิดและสายพันธุ์มากมายตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ของมนุษย์

ดอกสีขาว (a) และเปลือกลำต้นเป็นริ้วแนวนอน (c) ของเชอร์รี่ป่า (Prunus avium) ซึ่งพบได้ทั่วไปในประเทศอังกฤษ และดอกสีชมพูอ่อน (b) และใบรูปหอก (d) ของซากุระพันธุ์โยชิโนะ (Prunus × Yodoensis) ซึ่งเป็นซากุระที่พบได้มากที่สุดในญี่ปุ่น
สำหรับเชอร์รี่นั้น หากกล่าวถึง Cherry โดยทั่วไปในอังกฤษมักจะหมายความถึง เชอร์รี่ป่า หรือ wild cherry (Prunus avium) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองชนิดที่นำมาบริโภคและพบเห็นทั่วไปตามตลาด อีกชนิดหนึ่งคือ เชอร์รี่เปรี้ยว หรือ sour cherry (Prunus cerasus) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและพบเห็นได้น้อยกว่า โดยเชอร์รี่ที่นำมารับประทานสดนั้นเป็นสายพันธุ์มาจากเชอร์รี่ป่าเป็นหลัก เมื่อผลสุกจะมีรสหวาน ในขณะที่เชอร์รี่เปรี้ยวนั้นยังคงมีรสชาติที่เปรี้ยวและฝาดแม้จะสุกเต็มที่แล้ว ส่วนใหญ่จึงนิยมแปรรูปเป็นส่วนประกอบของพายและขนมต่างๆมากกว่าที่จะทานสด อย่างไรก็ตามเชอร์รี่ทั้งสองชนิดนั้นไม่ได้เป็นพืชดั้งเดิมของอังกฤษ แต่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากฝั่งเอเชียตะวันตก จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเชอร์รี่ถูกนำเข้าจากบริเวณประเทศตุรกีในปัจจุบันมาเพาะปลูกในยุโรปเพื่อเป็นพืชอาหารโดยชาวโรมันตั้งแต่ก่อนคริสตกาล (Chin et al., 2014; Kunter et al., 2012) และแพร่เข้ามาสู่เกาะอังกฤษในภายหลังในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 โดยปัจจุบันสามารถพบเชอร์รี่ป่าได้ทั่วไปในอังกฤษ จึงเรียกได้ว่าเป็นพืชพื้นถิ่นไปโดยปริยาย (naturalised) เอกลักษณ์ของเชอร์รี่ป่านั้นเห็นได้ชัดจากขนาดต้นที่ใหญ่กว่าซากุระโดยทั่วไปมาก โดยสามารถสูงได้กว่า 30 เมตร มีกลีบดอกสีขาวนวล ไม่อมชมพูแบบซากุระ ดอกโดยทั่วไปจะเป็นแบบธรรมดาคือมีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ก็มีพันธุ์ ‘Plena’ ที่มีกลีบดอกแบบซ้อนหลายกลีบ ดอกจะบานเต็มที่ในช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิและจะติดผลในช่วงกลางฤดูร้อน โดยผลจะมีขนาดเล็กกว่า มีรสชาติเฝื่อนและเปรี้ยว แต่ถ้าใครอยากจะลองชิมก็ขอแนะนำให้ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าต้นเชอร์รี่นั้นไม่มีเจ้าของ และลูกเชอร์รี่ที่หล่นอยู่นั้นสะอาดเพียงพอที่จะรับประทานได้

ต้นเชอร์รี่ป่า (Prunus avium) ต้นใหญ่ในสวน Green park, London
ซากุระ หรือที่ชาวอังกฤษมักจะเรียกว่า Japanese cherries หรือ flowering cherries นั้นมีถิ่นกำเนิดจากเอเชียตะวันออก แถบประเทศจีน คาบสมุทรเกาหลีและญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นมาจากพืชในสกุล Prunus หลายชนิด เช่น Oshima sakura (Prunus speciosa) และ Yamazakura(Prunus jamasakura) ผ่านวัฒนธรรมการคัดสายพันธุ์เป็นเวลาหลายร้อยปีเพื่อให้ได้ลักษณะดอกและรูปทรงต้นที่สวยงามสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ โดยในปัจจุบันมีสายพันธุ์มากกว่าร้อยสายพันธุ์ ซึ่งลักษณะของดอกมีตั้งแต่แบบธรรมดาที่มีกลีบดอกเพียง 5 กลีบ (Prunus sargentii) ไปจนถึงกว่า 100 กลีบ! (Prunus ‘Kiku-shidare-zakura’) มีสีของกลีบดอกไล่ตั้งแต่สีขาว (Prunus ‘Shitotae’) สีชมพูอ่อน (Prunus ‘Yoshino’) ไปจนถึงสีชมพูเข้ม (Prunus ‘Kanzan’) หรือแม้แต่สีเขียว (Prunus ‘Gioiko’) หรือสีเหลืองก็ยังมี (Prunus ‘Ukon’) ในขณะที่เชอร์รี่ป่านั้นมีเพียงแค่สีขาวเท่านั้น ผลของซากุระ หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า Sakuranboนั้น มีลักษณะทั่วไปคล้ายกันกับผลเชอร์รี่ หรือผลของ Prunus ชนิดอื่นๆ คือเป็นผลแบบ drupeตามที่อธิบายข้างต้น แต่จะมีขนาดเล็กกว่าและมีรสชาติขมกว่า และที่สำคัญคือส่วนใหญ่นั้นมีสารพิษที่ชื่อว่า Coumarin จึงต้องนำไปผ่านกระบวนการหมักเพื่อขจัดปริมาณสารพิษออกก่อน นอกจากนี้ ซากุระส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะของทรงพุ่มที่เป็นเอกลักษณ์เช่นกัน เช่น Prunus ‘Spire’ มีกิ่งก้านชี้แผ่ด้านบนเป็นทรงกรวย หรือ Prunus ‘Shidare-Yoshino’ ที่มีกิ่งก้านย้อยลงมาด้านล่าง ซากุระเหล่านี้ถูกนำเข้ามาปลูกในอังกฤษเป็นเวลาร่วมร้อยปี (Johnson, 2004; Pryor, 1988) ทำให้ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในเกาะอังกฤษ แต่มักปลูกประปรายคละไปกับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ไม่ได้ปลูกรวมกลุ่มเป็นชนิดเดียวกัน หรือสายพันธุ์เดียวกันจำนวนมากๆ แบบที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ เนื่องจากซากุระแต่ละสายพันธุ์นั้นมีช่วงเวลาบานเต็มที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งความเปราะบางของกลีบซากุระและเชอร์รี่ ซึ่งเมื่อเจอกับสภาพอากาศของเกาะอังกฤษที่มักมีลมแรงสลับกันฝนตกเป็นส่วนมาก ทำให้ช่วงเวลาที่สวยที่สุดของซากุระในอังกฤษนั้นสั้นกว่าที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้องค์กรอนุรักษ์อย่าง National Trust ได้วางแผนที่จะปลูกเชอร์รี่และไม้ต้นอื่นๆ เช่น พลัม และเฮเซล ทั่วประเทศอังกฤษเพื่อเพิ่มทัศนียภาพความสวยงามและเพื่อเป็นการระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระบาดของโรคCovid-19 อีกด้วย

ซากุระพันธุ์โยชิโนะ (Prunus × Yodoensis) ที่สวนพฤกษศาสตร์ Kew Gardens ย่าน Richmond, London หนึ่งในสถานที่ที่รวบรวมพันธุ์ซากุระไว้มากที่สุดในเกาะอังกฤษ

Great White Cherry หรือซากุระพันธุ์ไทฮาคุ (Prunus ‘Tai Haku’) สวนพฤกษศาสตร์ Kew Gardens

ซากุระพันธุ์คันซัน (Prunus ‘Kanzan’) มีกลีบดอกสีชมพูเข้มซ้อนกันหลายชั้น เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบได้บ่อยมากในอังกฤษ
นอกจากเชอร์รี่และซากุระแล้ว ยังมีพืชในวงศ์กุหลาบที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ที่อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นซากุระ เช่น พลัม (สกุล Prunus) ซึ่งจะมีดอกสีขาวขนาดเล็กกว่าและมีก้านดอกที่สั้นกว่าอย่างชัดเจน หรือ กลุ่มแอปเปิ้ล (สกุล Malus) ที่โดยทั่วไปมีลักษณะดอกคล้ายกันกับเชอร์รี่มาก เช่น แอปเปิ้ลสวน (Orchard apple Malus domestica) มีสีขาวอมชมพูระเรื่อ หรือโดยเฉพาะ Japanese crab (Malus floribunda) ที่มีสีชมพูในเฉดใกล้เคียงกับซากุระ และมักบานสะพรั่งพร้อมกันทั้งต้นเช่นกัน โดยสามารถแยกได้ชัดเจนจากลักษณะใบและดอกที่ค่อนข้างเล็กกว่า และเปลือกลำต้นที่ไม่ได้เป็นริ้วแนวนอนอย่างซากุระ (Johnson, 2004)

Japanese crab (Malus floribunda: รูป a ข้างหลัง และ b) และ Purple crab (Malus ×purpurea: รูป a ต้นข้างหน้าc) และ พืชในสกุลแอปเปิ้ลที่เป็นญาติสนิทกับเชอร์รี่และซากุระ เมื่อออกดอกเต็มต้นอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นซากุระ โดยสามารถแยกได้ชัดเจนจากลักษณะใบและดอกที่ค่อนข้างเล็กกว่า และเปลือกลำต้นที่ไม่ได้เป็นริ้วแนวนอนอย่างซากุระ
สำหรับในไทยเราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อ นางพญาเสือโคร่ง หรือ เชอร์รี่หิมาลัย (Himalayan cherry: Prunus cerasoides) หรือที่ตามสื่อส่วนใหญ่มักเรียกว่า ‘ซากุระเมืองไทย’ ซึ่งเป็นไม้ต้นในสกุลเดียวกับซากุระและเชอร์รี่อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นในแถบเอเชียตั้งแต่แนวเทือกเขาหิมาลัยของอินเดีย ไปจนถึงจีนตะวันตกเฉียงใต้ ครอบคลุมบางส่วนของพม่าและไทย (Forest Restoration Research Unit, 2000; Gardner et al., 2000) จากสีสันและรูปทรงโดยรวมแล้ว ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงได้รับขนานนามว่า ซากุระเมืองไทย ลักษณะที่แตกต่างระหว่างดอกนางพญาเสือโคร่งกับดอกซากุระที่มีสีชมพูเหมือนกันที่ชัดเจนคือขนาดของก้านดอกนางพญาเสือโคร่งที่สั้นกว่าของเชอร์รี่และมีกลีบดอกขนาดเล็กกว่าดอกซากุระโดยทั่วไปอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าความสวยงามไร้ที่ติของนางพญาเสือโคร่งที่บานสะพรั่งในช่วงปลายฤดูหนาวจะทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วนางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ต้นที่ขึ้นอยู่ที่ความสูงราว 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และต้องการอากาศที่หนาวเย็นในการกระตุ้นการออกดอก ทำให้เป็นอุปสรรคในการนำมาเพาะปลูกเป็นไม้ประดับในเมืองอย่างในประเทศเมืองหนาว การเลือกปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและความกังวลในการเลี้ยงดูแล้ว ต้นไม้ที่เติบโตในสภาพอากาศธรรมชาติที่เหมาะสมนั้นก็ย่อมให้ทั้งคุณค่าทั้งความสวยงาม และประโยชน์อื่นๆตามมา หากได้ลองหาข้อมูลดีๆ จะพบว่ายังมีต้นไม้พื้นถิ่นบ้านเราอีกหลายชนิดที่ออกดอกสวยงามไม่แพ้กับซากุระ ถึงแม้ว่าส่วนตัวจะเทใจไปให้ซากุระมากกว่าก็ตาม ~

นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides) ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
ในทางวิทยาศาสตร์นั้น การใช้ชื่อสามัญนั้นมักทำให้เกิดความสับสนและคลุมเครือเสมอ นักพฤกษศาสตร์จึงนิยมใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ที่มีความจำเพาะในแต่ละชนิดและสายพันธุ์มากกว่าเมื่ออ้างอิงถึงพืชแต่ละชนิด อย่างไรก็ตาม การเรียกชื่อที่สับสนไปมาระหว่างซากุระและเชอร์รี่นี้อาจมีข้อสังเกตจาก ความคุ้นชินของชาวตะวันตกที่มีต่อเชอร์รี่ป่า (Prunus avium) ซึ่งมีบทบาทในสังคมตะวันตกในฐานะพืชอาหารมาอย่างยาวนาน ประกอบกับองค์ความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์และอนุกรมวิธานในสมัยก่อนนั้นก็เริ่มพัฒนาจากฝั่งตะวันตก โดยทั้ง Carl Linnaeus ผู้ตั้งชื่อให้กับสกุล Prunus และชื่อวิทยาศาสตร์ของเชอร์รี่ป่านั้นเป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักอนุกรมวิธานชื่อดังชาวสวีเดน หรือ John Lindley ผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของJapanese cherry (Sato-zakura Prunus serrulata) นั้นก็เป็นนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ดังนั้นชาวตะวันตกจึงคุ้นเคยกับการเรียกต้นไม้ในกลุ่มที่คล้ายๆ กันเหล่านี้ว่า ‘เชอร์รี่’ เช่น ‘Japanese cherry’ หรือ ‘Cherry Blossom’ แทนที่จะทับศัพท์ด้วยคำว่า ‘ซากุระ’ ในขณะที่ซากุระในแถบเอเชียตะวันออกนั้นถูกนำมาใช้เป็นไม้ประดับเป็นหลัก และเป็นที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทยนั้น เมื่อวัฒนธรรมเหล่านี้แพร่มาถึงประเทศไทย เราจึงอาจอนุมานได้ว่าชื่อ ‘ซากุระ’ นั้นใช้เรียกชนิดที่นำมาปลูกเพื่อความสวยงามเป็นหลัก และรู้จักชื่อ ‘เชอร์รี่’ ในฐานะผลไม้เมืองหนาว ส่วนนางพญาเสือโคร่งซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของไทยและมีความสวยงามโดดเด่นจะถูกเหมารวมว่าเป็นซากุระเมืองไทยนั้นก็คงจะไม่แปลกเช่นกัน ส่วนความแตกต่างนั้นอาจสรุปโดยคร่าวๆได้ว่า เชอร์รี่ป่า (Prunus avium) นั้นจะต้นใหญ่กว่าชนิดอื่นๆ มากและมีดอกสีขาว ซากุระ (Prunus spp.) ต้นเล็กกว่าและมีลักษณะและเฉดสีของกลีบดอกและทรงพุ่มที่หลากหลายกว่ามาก และนางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides) มีกลีบดอกขนาดเล็กและมีแค่สีชมพูเท่านั้น
ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้ซากุระ เชอร์รี่ และนางพญาเสือโคร่งก็ล้วนเป็นต้นไม้คนละชนิดกัน นอกจากนี้ทั้งเชอร์รี่และซากุระนั้นก็ต่างมีชนิดและสายพันธุ์แยกย่อยไปอีกหลายร้อยชนิด แต่ทั้งหมดนี้ก็ต่างเป็นพืชในสกุลเดียวกันและมีลักษณะร่วมหลายๆอย่างที่คล้ายกัน จากบทความนี้ผู้เขียนได้แนะนำข้อสังเกตเบื้องต้นสำหรับการจำแนกเชอร์รี่ป่า ซากุระ และนางพญาเสือโคร่งไปแล้ว จึงอยากให้ผู้อ่านได้ลองสังเกตลักษณะเหล่านี้เมื่อพบเห็นต้นไม้แสนสวยเหล่านี้ในครั้งต่อๆไป ส่วนเหล่านักเรียนไทยในอังกฤษตอนนี้ก็ขอให้ใช้เวลาชื่นชมธรรมชาติอันสวยงามของฤดูใบไม้ผลิอังกฤษให้เต็มที่ เพราะต้องบอกเลยว่าสำหรับสภาพอากาศและฤดูกาลที่นี่ บวกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบันที่รบกวนช่วงเวลาการบานของดอกไม้แล้ว หากพลาดแล้วก็พลาดเลยนะ ~

เชอร์รี่และซากุระที่สวนสาธารณะ Crookes Valley Park เมืองเชฟฟิลด์
เอกสารอ้างอิง
Johnson, O., 2004. Collins tree guide. HarperCollins Publishers.
Chin, S.W., Shaw, J., Haberle, R., Wen, J. and Potter, D., 2014. Diversification of almonds, peaches, plums and cherries–molecular systematics and biogeographic history of Prunus (Rosaceae). Molecular phylogenetics and evolution, 76, pp.34-48.
Forest Restoration Research Unit. 2000. Tree seeds and seedlings for restoring forests in northern Thailand. Kerby J., Elliott S., Blakesley D. and Anusarnsunthorn V. (eds) Biology Department, Science Faculty, Chiang Mai University, Thailand, 152 pp.
Gardner, S., Sidisunthorn, P. and Anusarnsunthorn, V., 2000. A field guide to forest trees of northern Thailand. Kobfai Publishing Project.
Kunter, B., Bas, M., Kantoglu, Y. and Burak, M., 2012. Mutation breeding of sweet cherry (Prunus avium L.) var. 0900 Ziraat. Plant Mutation breeding and biotechnology. CAB International, Oxfordshire, pp.453-463.
Pryor, S.N., 1988. The silviculture and yield of wild cherry (No. 75).
ร่วมส่งบทความเป็นส่วนหนึ่งของสามัคคีสาร
คุณเองก็สามารถเผยแพร่บทความของตนเองในสามัคคีสารได้ ขอเพียงคุณมีใจรักการเขียน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นโยบายการส่งบทความของสามัคคีสาร แล้วอย่าลืมส่งบทความกันเข้ามาเยอะๆ นะคะ